อุดมการณ์ ลัทธิ และปรัชญา ของ สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่สอง

การต่อต้านคอมมิวนิสต์

ดูบทความหลักที่: การต่อต้านคอมมิวนิสต์
สัญลักษณ์ค้อนเคียวของคอมมิวนิสต์

พรรคบอลเชวิค ซึ่งมีแนวคิดไม่ถือชาติและหัวรุนแรง ก้าวขึ้นสู่อำนาจในรัสเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1917 ซึ่งหลังจากนั้น ได้มีความพยายามที่จะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งการปกครองที่คล้ายคลึงกันในบริเวณอื่นของโลก ซึ่งประสบความสำเร็จในฮังการีและบาวาเรีย การกระทำดังกล่าวนำมาซึ่งความกลัวต่อการปฏิวัติของคอมมิวนิสต์ในหลายชาติยุโรปตะวันตก ยุโรปกลาง และทวีปอเมริกา ในปี ค.ศ. 1919 ฝ่ายไตรภาคีถึงกับตั้งรัฐพรมแดนขึ้นประชิดชายแดนด้านตะวันตกของรัสเซีย โดยหวังว่าจะสามารถจำกัดคอมมิวนิสต์ไม่ให้แพร่ขยายออกมาจากรัสเซีย

ในเยอรมนีและอิตาลี ความเฟื่องฟูของฟาสซิสต์เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองของประเทศเหล่านั้น ทั้งฟาสซิสต์ในอิตาลีและเยอรมนีต่างก็เป็นส่วนหนึ่งในปฏิกิริยาตอบโต้การจลาจลของคอมมิวนิสต์และพวกสังคมนิยม กลุ่มเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายขวาและพวกทุนนิยม เนื่องจากว่าเป็นขบวนการซึ่งทั้งสองต่างก็อาศัยชนชั้นแรงงานและแยกพวกเขาออกจากลัทธิมากซ์ ปัจจัยเพิ่มเติมในเยอรมนีคือความสำเร็จของพวกไฟรคอร์ฝ่ายขวา ในการทำลายสาธารณรัฐบาวาเรียนโซเวียต ในมิวนิก ปี ค.ศ. 1919 ทหารผ่านศึกจำนวนมากเหล่านี้กลายมาเป็นส่วนประกอบของหน่วยเอสเอของพรรคนาซี ซึ่งถูกใช้เป็นกองกำลังของพรรคในการสู้รบตามท้องถนนกับชาวบ้านคอมมิวนิสต์ติดอาวุธในช่วงทศวรรษก่อนหน้า ค.ศ. 1933 ความรุนแรงตามท้องถนนจะช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นอนุรักษนิยมสายกลางไปเป็นผู้นำอำนาจนิยมซึ่งต่อต้านคอมมิวนิสต์ ตามความต้องการของเยอรมนี เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพของวิถีชีวิตดั้งเดิมไว้

แผนการเอาใจเยอรมนีของพันธมิตรตะวันตก

ดูเพิ่มที่ การเอาใจฮิตเลอร์

สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสนั้นได้ดำเนินแผนการของตนเพื่อเอาใจฝ่ายเยอรมนีในตอนปลายทศวรรษ 1930 ภายใต้แผนการการเอาใจฮิตเลอร์ เยอรมนีนั้นได้รับข้อเสนอว่าตนจะสามารถขยายพื้นที่ของตนไปทางทิศตะวันออกได้โดยไม่ต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งจากทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส แต่เหตุการณ์ดังกล่าวได้เพิ่มความทะเยอทะยานของเขาและหลังจากนั้นก็ได้เริ่มแผนการต่าง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่สงครามในไม่ช้า

การล่าอาณานิคมใหม่

ดูบทความหลักที่: เลเบินส์เราม์
การขยายตัวของจักรวรรดิญี่ปุ่น

การล่าอาณานิคม คือ หลักการการผนวกดินแดนหรืออำนาจทางเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่แล้วจะต้องใช้กำลังทหารเข้าช่วย ในอิตาลี เบนิโต มุสโสลินีนั้นมีความต้องการที่จะสร้างจักรวรรดิโรมันใหม่ขึ้นรอบ ๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กองทัพอิตาลีได้โจมตีแอลเบเนีย เมื่อต้นปี 1939 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของสงคราม และต่อมาก็กรีซ ก่อนหน้านั้น เขาได้ออกคำสั่งให้โจมตีเอธิโอเปีย เมื่อปี 1935 มาก่อนแล้ว แต่ว่าการกระทำดังกล่าวนี้ ได้รับการตอบสนองน้อยมากจากสันนิบาตชาติและฝ่ายพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยการสร้างอาณาจักรของเขานั้นจะเกิดขึ้นระหว่างช่วงที่ผู้คนไม่ปรารถนาสงคราม และช่วงเศรษฐกิจตกต่ำของโลกในช่วงทศวรรษ 1930 ทางด้านเยอรมนีนั้นก็ได้เข้ามาช่วยเหลืออิตาลีหลายครั้ง อิตาลีนั้นได้รับความขมขื่นจากดินแดนเพียงน้อยนิดซึ่งได้รับหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ระหว่างการประชุมที่เมืองแวร์ซาย อิตาลีนั้นหวังจะได้ดินแดนจำนวนมากจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี แต่กลับได้เพียงดินแดนสองสามเมืองเท่านั้น และคำสัญญาที่ขออัลเบเนียและเอเชียไมเนอร์ก็ถูกผู้นำฝ่ายพันธมิตรอื่น ๆ ละเลย

ทางด้านเยอรมนี หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เยอรมนีต้องสูญเสียดินแดนให้แก่ลิทัวเนีย ฝรั่งเศส โปแลนด์ และเดนมาร์ก โดยดินแดนที่เสียไปที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือ ฉนวนโปแลนด์ นครเสรีดานซิก แคว้นมาเมล (รวมกับลิทัวเนีย) มณฑลโปเซน และแคว้นอาลซัส-ลอแรนของฝรั่งเศส และดินแดนที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด คือ แคว้นซิลิเซียตอนบน ส่วนดินแดนที่มีค่าทางเศรษฐกิจอีกสองแห่ง คือ ซาร์แลนด์และไรน์แลนด์ นั้นอยู่ใต้การยึดครองของฝรั่งเศส และดินแดนที่ถูกฉีกออกไปจำนวนมากนี้ คนที่ไม่ใช่ชาวเยอรมันก็เข้ามาอาศัยเป็นจำนวนมาก

ผลของการสูญเสียดินแดนดังกล่าวก่อให้เกิดความขมขื่นแก่ชาวเยอรมัน และมีความสัมพันธ์อันเลวร้ายกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้การปกครองของพรรคนาซี เยอรมนีก็เริ่มต้นการแสวงหาดินแดนเพิ่มเติม ตั้งใจที่จะฟื้นฟูดินแดนอันชอบธรรมของจักรวรรดิเยอรมนี โดยที่สำคัญก็คือ แคว้นไรน์แลนด์และฉนวนโปแลนด์ ซึ่งอาจจะนำไปสู่สงครามที่หลีกเลี่ยงไม่ได้กับโปแลนด์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเอาใจของฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้ฮิตเลอร์มั่นใจได้ว่าสงครามกับโปแลนด์จะราบรื่นไปด้วยดี และถึงแม้จะแย่กว่านั้น ก็เพียงแค่เจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรเท่านั้น

นอกจากนี้ ฮิตเลอร์ยังมีแนวคิดที่จะสร้างเยอรมนีอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเขาเห็นว่าประชาชนเยอรมันควรที่จะรวมกันเป็นชาติเดียวกัน และรวมไปถึงแผ่นดินที่ชาวเยอรมันได้อาศัยอยู่นั้น โดยในตอนแรก ฮิตเลอร์ได้เพ่งเล็งไปยังออสเตรียและเชโกสโลวาเกีย หลังจากสนธิสัญญาแวร์ซาย เยอรมนีพยายามที่จะรวมตัวกับออสเตรีย แต่ก็ถูกห้ามปรามโดยฝ่ายพันธมิตร เพราะว่าในอดีต ก็เคยมีการรวมตัวเป็นรัฐเยอรมนีในปี 1871 มาก่อน เนื่องจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีประกอบด้วยหลายเชื้อชาติ ดังที่เห็นได้จากปรัสเซียและออสเตรียแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ในทวีป ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชาวออสเตรียส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยที่จะสร้างสหภาพดังกล่าวขึ้น

ด้านสหภาพโซเวียตได้สูญเสียพื้นที่จำนวนมากจากดินแดนของจักรวรรดิรัสเซียเดิม โดยสูญเสียโปแลนด์ ฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนียและโรมาเนีย ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามกลางเมืองรัสเซีย รวมไปถึงดินแดนบางส่วนซึ่งสูญเสียให้แก่ญี่ปุ่น และสหภาพโซเวียตมีความต้องการอย่างยิ่งที่จะเอาดินแดนที่สูญเสียไปทั้งหมดกลับคืน

ฮังการี ซึ่งเคยเป็นพันธมิตรของเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ถูกฉีกออกไปเป็นดินแดนจำนวนมหาศาล หลังจากที่ฝ่ายพันธมิตรตัดแบ่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีเดิม แต่ว่าฮังการียังคงต้องการที่จะคงความเป็นมิตรต่อกันกับเยอรมนี โดยในช่วงนี้แนวคิดฮังการีอันยิ่งใหญ่ กำลังได้รับความสนับสนุนในหมู่ชาวฮังการี

โรมาเนีย ซึ่งเป็นฝ่ายพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเป็นผู้ชนะสงคราม กลับรู้สึกว่าตนจะเป็นฝ่ายที่สูญเสียผลประโยชน์ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง จากผลของสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ ทำให้โรมาเนียต้องสูญเสียดินแดนทางทิศเหนือให้แก่สหภาพโซเวียต รางวัลเวียนนาครั้งที่สอง ทำให้โรมาเนียต้องยกแคว้นทรานซิลวาเนียตอนบนให้แก่ฮังการี และสนธิสัญญาเมืองคราโจวา โรมาเนียต้องยกแคว้นโดบรูจากให้แก่บัลแกเรีย ในโรมาเนียเองก็มีแนวคิดโรมาเนียอันยิ่งใหญ่ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะรวมตัวกับนาซีเยอรมนี

บัลแกเรีย ซึ่งเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้สูญเสียดินแดนให้แก่กรีซ โรมาเนียและยูโกสลาเวีย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและในสงครามคาบสมุทรบอลข่านครั้งที่สอง

ฟินแลนด์ ซึ่งสูญเสียดินแดนให้แก่สหภาพโซเวียตในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง (สงครามฤดูหนาว) ดังนั้นเมื่อเยอรมนีโจมตีสหภาพโซเวียตในปี 1941 ฟินแลนด์จึงเข้าร่วมกับเยอรมนี ด้วยหวังว่าตนจะได้รับดินแดนที่สูญเสียไปทั้งหมดกลับคืนมา

ในทวีปเอเชีย จักรวรรดิญี่ปุ่นนั้นมีความต้องการที่จะยึดครองดินแดนเพิ่มเติม เนื่องจากว่าภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ญี่ปุ่นได้รับดินแดนเพียงน้อยนิด ถึงแม้ว่าจะได้รับอาณานิคมเดิมของเยอรมนีในจีน และหมู่เกาะอีกจำนวนหนึ่งในมหาสมุทรแปซิฟิกแล้วก็ตาม รวมไปถึงป่าสนไซบีเรีย และเมืองท่าของรัสเซีย วลาดีวอสตอค ญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มีความต้องการดินแดนเหล่านี้เลย ยกเว้นหมู่เกาะที่ตนเองตีได้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

และประเทศไทย ซึ่งเสียดินแดนกว่าครึ่งประเทศให้แก่ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และมีความต้องการทวงดินแดนคืนเช่นกัน

ในหลายกรณี แนวคิดการล่าอาณานิคมได้นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีเป้าหมายไปในทางชาตินิยมในการรวมเอาดินแดนดั้งเดิมของตนคืน หรือวาดฝันถึงแผ่นดินอันยิ่งใหญ่ในวันข้างหน้า

ฟาสซิสต์

ดูบทความหลักที่: ฟาสซิสต์

ฟาสซิสต์ คือ แนวคิดทางการเมืองที่รัฐบาลจะมีการออกกฎข้อบังคับและการควบคุมทางเศรษฐกิจของประเทศ มีความแข็งแกร่ง และรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ประชาชนไม่มีสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้องในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับประเทศอย่างเด็ดขาด ปกครองโดยผู้เผด็จการ และมีแนวคิดเกี่ยวกับชาตินิยมอย่างแรงกล้า ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง หลายประเทศในทวีปยุโรปอยู่ภายใต้การปกครองด้วยฟาสซิสต์ ซึ่งสรุปแนวทางการปกครองได้ว่า การปกครองที่ดีคือการควบคุมประชาชนและอุตสาหกรรมของประเทศ

ฟาสซิสต์ได้มองกองทัพว่าเป็นสัญลักษณ์ของปวงชน ซึ่งประชาชนควรจะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง หลายประเทศฟาสซิสต์จึงมีนักการทหารเป็นจำนวนมาก และการให้ความสำคัญแก่วีรบุรุษนี่เองที่เป็นอุดมคติของฟาสซิสต์ ในหนังสือ The Doctrine of Fascism ซึ่งเขียนโดยเบนิโต มุสโสลินี เขาประกาศว่า "ฟาสซิสต์ไม่ได้มีความเชื่อในความเป็นไปได้และประโยชน์ใด ๆ ในสันติภาพนิรันดรแต่อย่างใด"[1] ฟาสซิสต์เชื่อว่าสงครามจะเป็นการทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ และเริ่มเสาะแสวงหาสงคราม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการุรกรานประเทศจากฝ่ายอักษะ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

ลัทธิโดดเดี่ยว

ดูบทความหลักที่: ลัทธิโดดเดี่ยว

สหรัฐอเมริกาได้มีแนวคิดที่จะโดดเดี่ยวทางการเมืองกับประเทศภายนอกช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ในซีกโลกตะวันตกและมหาสมุทรแปซิฟิกเท่านั้น สหรัฐอเมริกาตัดสินใจที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในทวีปยุโรป แต่ว่ายังคงมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แนบแน่น

ความรู้สึกของประชาชนในอังกฤษและฝรั่งเศสก็มีแนวคิดที่จะโดดเดี่ยวเช่นกัน และเบื่อหน่ายสงคราม นายเนวิล เชมเบอร์ลิน กล่าวถึงเชโกสโลวะเกียว่า: "โอ้ ช่างเลวร้ายและมหัศจรรย์เหลือเกินที่เราชาวอังกฤษไปขุดสนามเพลาะและพยายามใส่หน้ากากกันก๊าซพิษที่นั่น เพราะว่าความขัดแย้งอยู่ไกลจากตัวเรานัก ระหว่างคนสองจำพวกที่เราไม่รู้จัก ข้าพเจ้านั้นเป็นบุคคลแห่งสันติภาพมาจากส่วนลึกของวิญญาณของข้าพเจ้า" ภายในไม่กี่ปี โลกก็เข้าสู่สงครามเบ็ดเสร็จ

ลัทธินิยมทหาร

ความนิยมทางการทหารของผู้นำเยอรมนี ญี่ปุ่นและอิตาลี ได้นำไปสู่ความก้าวร้าวรุนแรง ประกอบกับที่กองทัพของทั้งสามประเทศนั้นถูกประเทศอื่นมองข้ามไป ดังที่เห็นได้จาก เยอรมนีประกาศเกณฑ์ทหารอีกครั้งในปี 1935 ด้วยเป้าหมายที่จะสร้างกำลังทหารขึ้นมาใหม่ และเป็นการขัดต่อสนธิสัญญาแวร์ซาย

ลัทธิชาตินิยม

ลัทธิชาตินิยม มีความเชื่อว่า คนชาติพันธุ์เดียวกันควรจะอยู่รวมกันทั้งในดินแดนเดียวกัน วัฒนธรรมเดียวกันและอยู่ร่วมกันทางมนุษยชาติ ผู้นำของเยอรมนี อิตาลีและญี่ปุ่นมักจะใช้แนวคิดดังกล่าวเพื่อให้ได้รับแรงสนับสนุนจากปวงชนในประเทศ ลัทธิฟาสซิสต์นั้นตั้งอยู่บนรากฐานของลัทธิชาตินิยม และคอยมองหา "รัฐชาติ" ที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน ฮิตเลอร์และพรรคนาซีนำลัทธิชาตินิยมไปในเยอรมนี ซึ่งประชาชนเยอรมันได้มีศรัทธาอย่างแรงกล้า ในอิตาลี แนวคิดที่จะสร้างจักรวรรดิโรมันใหม่ขึ้นมาได้ดึงดูดชาวอิตาลีจำนวนมาก และในญี่ปุ่น ด้วยความทระนงในหน้าที่และเกียรติยศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์จักรพรรดิ ได้ถูกเผยแพร่ในญี่ปุ่นมาเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว

ลัทธิการแบ่งแยกเชื้อชาติ

พรรคนาซีได้นำแนวคิดทางสังคมของชาร์ลส์ ดาร์วิน ได้กล่าวถึงชนชาติทัวทันและชนชาติสลาฟว่าจำเป็นต้องแย่งชิงความเป็นใหญ่ และจำเป็นต้องแย่งชิงพื้นที่และทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยได้กล่าวว่าชนชาติเยอรมัน คือ "เชื้อสายอารยัน" ซึ่งมีแนวคิดอย่างชัดเจนว่าชาวสลาฟต้องตกเป็นเบี้ยล่างของชาวเยอรมัน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ฮิตเลอร์ได้ใช้แนวคิดการแบ่งแยกเชื้อชาติดังกล่าวเพื่อพวกที่ไม่ใช่อารยัน โดยพวกที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวอย่างร้ายแรง ก็คือ ชาวยิว ชาวโซเวียต และยังมีการกีดกันพวกรักร่วมเพศ ผู้ที่ทุพพลภาพ ผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต ชาวยิปซี สมาคมฟรีเมสันและผู้นับถือคริสต์ศาสนานิกายพยานพระเยโฮวาห์

ใกล้เคียง

สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่สอง สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สาเหตุไข้หวัด สาเหตุการเกิดหลุมยุบ สาเหตุของโรคตับแข็ง ความสมเหตุสมผลภายใน ความสมเหตุสมผลเชิงสถิติของข้อสรุป ความสมเหตุสมผล (แก้ความกำกวม) ความสมเหตุสมผลทางนิเวศ ความสมเหตุสมผลภายนอก

แหล่งที่มา

WikiPedia: สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่สอง http://books.google.com/books?id=u5KgAAAACAAJ&dq=M... http://www.historychannel.com/thcsearch/thc_resour... http://online.wsj.com/article/SB120481455326416671... http://www.american.edu/ted/ice/saar.htm http://www.calvin.edu/academic/cas/gpa/goeb21.htm http://www.uhpress.hawaii.edu/cart/shopcore/?db_na... http://search.japantimes.co.jp/cgi-bin/fb20070311a... http://www.winstonchurchill.org/i4a/pages/index.cf... http://www.worldfuturefund.org/wffmaster/Reading/G... http://www.st-andrews.ac.uk/~pv/munich/doclist.htm...